Jim Thompson Art Center

EN TH
Shadow Dancing cover
Shadow Dancing cover title

Exhibitions /

EN TH

Shadow Dancing:
Where Can We Find a Silver Lining
in Challenging Times?

Shadow Dancing: Where Can We Find a Silver Lining in Challenging Times? เป็นนิทรรศการต่อเนื่องจากโครงการ Challenging Time, Artists and Curatorial Exchange, and Research Residency Program Between Thailand and Taiwan 2020 ซึ่งเป็นโครงการศิลปินในพำนักเพื่อการแลกเปลี่ยนและวิจัยเชิงทดลองออนไลน์ ภายใต้ความร่วมมือทางไกลระหว่าง หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ในกรุงเทพฯ และ พิพิธภัณฑ์ฮงกา ในไทเป นอกเหนือจากการขยายเครือข่ายที่มีอยู่ระหว่างแวดวงศิลปะของประเทศไทยกับไต้หวันแล้ว นิทรรศการนี้ยังถือเป็นความร่วมมือระหว่างภัณฑารักษ์ ศิลปิน กับผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงผู้ชม ซึ่งมุ่งเน้นการสนับสนุนและส่งเสริมคุณค่าของการร่วมสนทนา การเชื่อมต่อถึงกัน และความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน อันเป็นแบบอย่างสำหรับการอยู่ในโลกนี้ในช่วงเวลาที่ท้าทายในปัจจุบัน

ศิลปินที่เข้าร่วม
กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ (บุรีรัมย์, ไทย)
จุฬญาณนนท์ ศิริผล (กรุงเทพฯ, ไทย)
เจิง เยี่ยนอวี๋ (ฉิงจู, ไต้หวัน)
เจิ้ง ถิงถิง (ไทเป, ไต้หวัน)
ปณชัย ชัยจิรรัตน์ (อุดรธานี, ประเทศไทย)
ศรภัทร ภัทราคร (ไวมาร์, เยอรมนี)
หลิน อี๋จวิน (ไทเป, ไต้หวัน)
และ เอนคาริอน อัง (ไทเป, ไต้หวัน)

ภัณฑารักษ์
ปวีณา เนคมานุรักษ์ (หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน, กรุงเทพฯ)
โซอี้ เย่ (พิพิธภัณฑ์ฮงกา, ไทเป)

ผู้ช่วยภัณฑารักษ์
เดซี่ หลี่ (พิพิธภัณฑ์ฮงกา, ไทเป)

นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการลำดับที่ 2 ในนิทรรศการชุดสงครามเย็นของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โดยเน้นที่บริบททางสังคมการเมืองและวัฒนธรรมของประเทศไทยและไต้หวัน ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองมาจนถึงปัจจุบัน นิทรรศการนี้ที่เป็นผลลัพธ์ของการอภิปรายอย่างต่อเนื่องระหว่างศิลปินและองค์กรศิลปะทั้งสองแห่งที่เข้าร่วม โดยเป็นการนำประวัติศาสตร์สงครามเย็นกลับมาพิจารณาใหม่ และยังใช้เป็นจุดเริ่มต้นที่มีส่วนช่วยในการสำรวจการคงอยู่ของประวัติศาสตร์และผลพวงจากยุคสงครามเย็น ซึ่งยังคงปรากฏให้เห็นและสัมพันธ์กับความเป็นจริงร่วมสมัย อีกทั้งยังส่งผลถึงการมองหาความเป็นไปได้ในอนาคตที่คลุมเครือ

  • 1

Shadow Dancing เปิดเผยเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์กระแสรองที่ทำให้เราครุ่นคิดพิจารณาเกี่ยวกับสถานการณ์ของชีวิตความเป็นอยู่ในโลกที่ซับซ้อนและมีหลากหลายแง่มุม โดยหยิบยืมมโนทัศน์จากการ การเคลื่อนไหวในความมืด อันเป็นพลวัตที่ตรงข้ามกับความชัดแจ้งและความชอบธรรม ในสถานการณ์ที่เราไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน และเมื่อเราต้องจมอยู่กับความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ เราจะมองหาแสงสว่างในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้ได้จากที่ไหน? โดยที่เราไม่รู้ตัว จังหวะชีวิตของเราถูกก่อกวนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ยังไม่นับความจริงที่ว่าเราได้ใช้ชีวิตภายใต้การควบคุมจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกมาตลอด ในทำนองเดียวกัน Shadow Dancing ยังพาดพิงถึงประวัติศาสตร์อันซับซ้อนและตำแหน่งทางภูมิศาสตร์การเมืองของไต้หวัน ตลอดจนสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองที่ปั่นป่วนในไทยที่คล้ายกับถูกม่านหมอกสีดำปกคลุมไปทั่ว

ด้วยเหตุนี้ ผลลัพธ์จากการพบปะพูดคุยเสมือนจริงและการวิจัยออนไลน์ตลอดระยะเวลาสี่เดือนโดยศิลปินชาวไต้หวันและชาวไทยทั้ง 8 คน ประกอบด้วยผลงานศิลปะสหสาขา ที่เน้นประสบการณ์และการมีส่วนร่วม รวมถึงศิลปะวิดีโอการแสดงและศิลปะจัดวางเสียง ผลงานของศิลปินต่างสะท้อนมุมมองอันหลากหลายและนำเสนอการอภิปรายอันล้ำลึกหลายชั้นและต่อเนื่อง

  • 1

    Lin Yi-Chun

  • Panachai Chaijirarat

    Panachai Chaijirarat

  • Sornrapat Pattharakorn

    Sornrapat Pattharakorn

  • Enkaryon Ang

    Enkaryon Ang

จากความสนใจเกี่ยวกับการตั้งฐานทัพของสหรัฐฯในบ้านเกิดของ ปณชัย ชัยจิรรัตน์ ได้สำรวจแนวคิดเรื่องพื้นที่นอกอาณาเขต และตรวจสอบหาความจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของทหารในเขตเป่ยโถวและบริเวณใกล้เคียงในไต้หวัน นอกจากนี้เขายังพิจารณาการมีอยู่ของพื้นที่นี้ภายในไทย ซึ่งทำให้เขาได้พบบันทึกเหตุการณ์ของกองทหารก๊กมินตั๋ง กองพันที่ 93 ซึ่งหลังจากถอนที่มั่นออกจากเมืองยูนนานในปี พ.ศ. 2492 บางส่วนได้อพยพไปไต้หวันผ่านโครงการความร่วมมือทางทหารระหว่างไต้หวัน ไทย พม่า กับสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ถูกทิ้งและยังคงอาศัยอยู่ที่ภาคเหนือของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วน ศรภัทร ภัทราคร ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่และการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นประชาธิปไตย โดยเขาอ้างถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมและนักเคลื่อนไหวที่สำคัญในประวัติศาสตร์จากทั้งสองฝั่ง ด้วยความที่เขาสนใจเรื่องเล่ากระแสรองและต้องการรวบรวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เกี่ยวข้องมาไว้ในงานของเขาให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ด้วยวิธีการที่เขาทำสามารถสร้างพื้นที่ให้เรื่องเล่าขนาดย่อมและเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการเติมส่วนที่ขาดหายไป

ผลงานของ เอนคาริอน อัง ใช้เทคนิคการดัดแปลงเสียงและภาษาที่อ้างถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่มีความเกี่ยวเนื่องกับภูมิศาสตร์และปรากฏการณ์ระดับโลก ศิลปินทำการรวบรวมภาพยนตร์ไทยและคลิปเสียงจากแหล่งต่าง ๆ มากมาย และสร้างสรรค์เสียงในรูปแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อท้าทายการรับรู้และความเข้าใจของเรา ในขณะที่ เจิ้ง ถิงถิง ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง The Beach และภาพข่าวในประเทศไทยของผู้ประท้วงสองคนที่ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำไปยังรัฐสภา ศิลปินฉายภาพเกาะพีพีของประเทศไทย อันเป็นเกาะสวรรค์ของคนไทยและนักท่องเที่ยว เป็นดั่งจุดหมายที่ไม่มีวันไปถึงได้ กล่าวได้ว่าแดนสวรรค์ในความเป็นจริงนั้นแตกต่างออกไปเมื่อนำไปใช้กับบริบทของเวลาในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เราครุ่นคิดถึงความเป็นจริงที่ท้าทายต่อความคาดหวังและการมองอนาคตของเรา งานวิจัยของ หลิน อี๋จวิน เกี่ยวกับบทบาทของคนค้าขายหาบเร่ตามท้องถนนในประเทศไทย เกิดขึ้นหลังจากศิลปินได้รู้เห็นว่าคนค้าขายหาบเร่เหล่านี้ตอบสนองต่อการประท้วงและโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ นอกจากนี้ศิลปินยังย้อนกลับไปพิจารณาความเป็นมาของคนค้าขายหาบเร่ของไต้หวันอีกด้วย

  • 1

    Kridpuj Dhansandors

  • Tseng Yen-Yu

    Tseng Yen-Yu

ในขณะที่ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ค้นพบแรงบันดาลใจจากวงไอดอลหญิงล้วนยอดนิยมของญี่ปุ่นอย่าง AKB48 และวงน้องสาวต่างประเทศของพวกเขาในเอเชีย ซึ่งรวมถึง BNK48 ในกรุงเทพฯ และ TPE48 ในไทเป เขาสร้าง ANGSUMALIN 48 หรือ ANG 48 เพื่อล้อเลียนวงดังกล่าวว่าทำงานเพื่ออุดมการณ์กระแสหลัก เขายังชี้ให้เห็นถึงความแพร่หลายของวัฒนธรรมหรือซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศญี่ปุ่นในเอเชียตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เจิง เยี่ยนอวี๋ มักใช้ผ้ามาทำหุ่นเชิดโดยใช้เทคนิคการห่อและรัดให้แน่น ศิลปินเกิดความประทับใจต่อการมีส่วนร่วมในชุมชนของ คุณจิม ทอมป์สัน ตลอดจนวิสัยทัศน์ของเขาที่มีต่องานหัตถกรรมและการยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างบทบาทให้ผู้หญิง

ส่วน กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ ในฐานะแพทย์สำหรับครอบครัว เขาสนใจการปะทะสังสรรค์กันระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมกับบุคคลที่ถูกจำกัด เขาจึงสำรวจเรื่องราว “ดั้งเดิม” ที่ถูกละเลยและความเชื่อมโยงของเรื่องราวเหล่านี้ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น ศิลปะและการทรงเจ้าเข้าผี นอกจากนี้เขายังจัด Limbic Release โครงการฉายภาพยนตร์ที่จะเชื้อเชิญให้เราขบคิดทบทวนเรื่องการล่าอาณานิคมและผลกระทบของโลกาภิวัตน์

Opening day by Kobkit Thititanawat

นิทรรศการนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน), สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย, มูลนิธิ เจมส์ เอช. ดับเบิลยู. ทอมป์สัน, พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม, GroundControl, และ SEALECT BRAND, ร่วมกับสถาบันภาพยนตร์และโสตทัศนูปกรณ์ไต้หวัน (TFAI), สถานีโทรทัศน์สาธารณะไต้หวัน (PTS), โรงภาพยนตร์ลิโด้ และสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) และขอขอบคุณสมาชิกของเราที่มีส่วนร่วมและสนับสนุนในการจัดนิทรรศการและโปรแกรมของเรา