Jim Thompson Art Center

EN TH
Nomadic cover
Nomadic cover title

Exhibitions / Gallery 1 & 2, 3rd Floor

EN TH

Nomadic

นิทรรศการกลุ่ม
ภัณฑารักษ์โดย ดร. เวนเนส เฉิง
จัดแสดงที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน

รายชื่อศิลปิน
ฮิคะรุ ฟูจิอิ (ญี่ปุ่น), Jiandyin (ไทย), ลอว์ ยุก มุย (ฮ่องกง), หลิน อี่-ชือ (ไต้หวัน), ซิม ชือ ยิน (สิงคโปร์, พำนักในนิวยอร์ก), จาง คิน-วาห์ (ฮ่องกง), เฉา เหลียง-ปิน (ไต้หวัน), ตินติน วูเลีย (อินโดนีเซีย, พำนักในสวีเดน)

ชนเร่ร่อน หมายถึง กลุ่มคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยถาวรและมีการย้ายถิ่นไปในที่ต่างๆ นิทรรศการนี้นำแนวคิดของการเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ต่างๆ ของชนเร่ร่อนมาใช้ในการจินตนาการใหม่ซึ่งการลื่นไหลของอัตลักษณ์ของผู้คนและความรู้สึกผูกพันต่อถิ่นฐานอันเป็นบ้านเกิด ที่เราต่างพบเห็นเกิดขึ้นบ่อยครั้งในเอเชีย ทั้งแนวคิดความเข้าใจและองค์ประกอบที่หลอมรวมเป็นภูมิภาคเอเชียต่างเชื่อมโยงกับเรื่องราวของการพลัดถิ่นฐานของผู้คน โดยสงคราม ความขัดแย้ง และข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในภูมิภาค คือปัจจัยสำคัญที่บีบบังคับให้ผู้คนต้องละถิ่นฐานอันเป็นบ้านเกิดไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศอื่น การพลัดถิ่นของผู้คนในเอเชียเกิดขึ้นในอดีตและยังคงเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

  • 1

    Detail from The Suitcase Is A Little Bit Rotten, Harbour, 2022

  • Still image from Playing Japanese, 2017

    Still image from Playing Japanese, 2017

  • Nantou Martyrs Shrine, 2018

    Nantou Martyrs Shrine, 2018

  • (Re)Collection of Togetherness – stage 13, 2550-2567

    (Re)Collection of Togetherness – stage 13, 2550-2567

  • EITHER / OR, 2017, site-specific installation Onsite, Vancouver Art Gallery Howe Street facade, September 22, 2017 to March 4, 2018

    EITHER / OR, 2017, site-specific installation Onsite, Vancouver Art Gallery Howe Street facade, September 22, 2017 to March 4, 2018

  • Cover image of Song of the Exile I

    Cover image of Song of the Exile I

  • Installation view of Transoceanic Practice at VT Artsalon, Taipei, 2021

    Installation view of Transoceanic Practice at VT Artsalon, Taipei, 2021

ทวีปเอเชียถือเป็นทวีปที่เกิดข้อพิพาทและความขัดแย้งมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา สถานการณ์ความขัดแย้งและความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่เป็นผลจากการล่าอาณานิคมและการต่อสู้เพื่อปลดแอกจากประเทศเจ้าอาณานิคมได้ก่อให้เกิดภาวะตึงเครียดในทวีปแห่งนี้อยู่หลายช่วงเวลาด้วยกัน โดยกินเวลาตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 ไปจนถึงคริสต์ทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามเย็น ความตึงเครียดและภาวะหยุดนิ่งทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์และอุดมการณ์ทางการเมืองในโลกตะวันตกได้ขยายก่อเกิดเป็นข้อพิพาทในภูมิภาคเอเชียด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรุกรานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นผ่านทางอาณานิคมไต้หวัน การแบ่งแยกและความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดจากแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่บีบบังคับให้ชาวจีนที่มีถิ่นกำเนิดในมลายู อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และส่วนอื่นๆ ของภูมิภาค ต้องอพยพหลบหนีออกจากบ้านเรือนของตนไปยังประเทศจีน และสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานในเวียดนามที่สหรัฐฯ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ผู้คนต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน จนก่อเกิดเป็นความสับสนและความเจือจางทางอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน โดยที่ฮ่องกงเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนไม่ต่างกัน

On Adaptation, photograph series no.2, 2010

ผลงานที่ได้รับเลือกจัดแสดงในนิทรรศการนี้เป็นผลงานของศิลปินจากประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง โดยร่วมสำรวจและเน้นย้ำถึงประวัติศาสตร์การพลัดถิ่นของผู้คนในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ นิทรรศการนี้ยังมุ่งนำเสนอให้เห็นถึงความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์กันของพื้นที่ต่างๆ ทั่วทวีป พร้อมกับนำเสนอการมองเอเชียผ่านมุมมองแบบพหุทัศน์ที่ช่วยให้มองเห็นถึงความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมในเอเชีย ด้วยการเน้นย้ำถึงความเป็นชุมชนและอัตลักษณ์ของผู้คนว่าก่อเกิดจากการแสดงออกและยอมรับซึ่งความแตกต่างระหว่างกัน โดยนิทรรศการนี้มุ่งหมายให้เกิดการอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง และช่วยให้ผู้คนเข้าใจมุมมองของกันและกันด้วยการสร้างความเข้าใจร่วมกัน

ดร. เวนเนส เฉิง เซา หวาย

ฮ่องกง

นักวิชาการและภัณฑารักษ์

ดร. เวนเนส เฉิง เซา หวาย เป็นนักวิชาการและภัณฑารักษ์พำนักอยู่ที่ฮ่องกง ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งรองภัณฑารักษ์ของ M+ Museum Hong Kong Visual Culture และมีผลงานการวิจัยเกี่ยวกับประเด็นด้านศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยของฮ่องกงและจีน การศึกษาการพลัดถิ่นวิทยา การรวบรวมเอกสารสำคัญเกี่ยวกับศิลปิน และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์และความจำ ดร. เวนเนสได้รับทุนสนับสนุนด้านการวิจัยภายใต้โครงการความร่วมมือของสถาบันเกอเธ่ สถาบัน documenta และหอจดหมายเหตุ documenta เมื่อ พ.ศ. 2564 และได้รับเลือกโดยศูนย์ศิลปะร่วมสมัย Para Site ให้เป็นหนึ่งในผู้ประกอบวิชาชีพด้านศิลปะหน้าใหม่ของฮ่องกงเมื่อ พ.ศ. 2561 และโครงการภัณฑารักษ์ของเธอได้รับการจัดแสดงในหลายประเทศ ทั้งที่ฮ่องกง ไต้หวัน เยอรมนี และไทย

ดร. เวนเนส สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ จากมหาวิทยาลัย The Chinese University of Hong Kong เมื่อ พ.ศ. 2564 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวัฒนธรรมศึกษา จากมหาวิทยาลัย Goldsmiths, The University of London เมื่อ พ.ศ. 2559 และผลงานการเขียนของเธอเกี่ยวกับปฏิบัติการทางศิลปะและเอกสารสำคัญเกี่ยวกับศิลปินร่วมสมัยของฮ่องกงจะได้รับการตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ใน พ.ศ. 2567 นี้

ฮิคะรุ ฟูจิอิ

เกิด พ.ศ. 2519 ญี่ปุ่น

ศิลปิน

เกิด พ.ศ. 2519 ที่โตเกียว ปัจจุบัน อาศัยและทำงานที่โตเกียว ฮิคะรุ ฟูจิอิ สร้างสรรค์ผลงานบนฐานของแนวคิดว่าการผลิตในทางศิลปะหมายถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสังคมและประวัติศาสตร์ ผลงานของเขาซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลงานจัดวางวิดีโอจึงกล่าวถึงประเด็นทางสังคมร่วมสมัยผ่านการวิจัยโดยละเอียดและการลงพื้นที่เพื่อศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศและภูมิภาคต่างๆ

Jiandyin

ไทย

ศิลปิน

jiandyin (พรพิไล มีมาลัย และจิระเดช มีมาลัย) ศิลปินหลากหลายแขนงและภัณฑารักษ์คู่ ปัจจุบันอาศัยและทำงานที่จังหวัดราชบุรี ประเทศไทย ผลงานของพวกเขาครอบคลุมหลากหลายแขนงและใช้สื่อที่หลากหลายในการสร้างสรรค์ อีกทั้งยังร่วมงานและดำเนินกิจกรรมทางสังคมกับศิลปินคนอื่นๆ ความมุ่งหมายของ jiandyin คือการสร้างสรรค์พื้นที่หรือแพลตฟอร์มที่ช่วยให้มีการวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับสังคม ภายในบริบทและประวัติศาสตร์เฉพาะของสถานที่หรือพื้นที่นั้นๆ jiandyin ล้วงลึกถึงประเด็นที่ซับซ้อนและมีความเฉพาะเจาะจงผ่านงานศิลปะของตนเอง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มคนชายขอบ

พ.ศ. 2554 jiandyin ได้ร่วมกันก่อตั้ง 'บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม' องค์กรความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ไม่แสวงผลกำไร และได้ร่วมจัดแสดงผลงานในงาน documenta fifteen พ.ศ. 2565 เมืองคาสเซิล ประเทศเยอรมนี และงานไทยแลนด์เบียนนาเล เชียงราย ประเทศไทย พ.ศ. 2566

ลอว์ ยุก มุย

เกิด พ.ศ.2525 ฮ่องกง

ศิลปิน

ลอว์ ยุก มุย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาวิจิตรศิลป์ จากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง เธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและรองผู้อำนวยการ Rooftop Institute ซึ่งเป็นสถาบันที่ดำเนินการโดยศิลปิน (2559-2565) เธอสร้างการปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ธรรมดาและชีวิตประจำวันของผู้คนในเมือง พร้อมกับบันทึกร่องรอยทางกายภาพของประวัติศาสตร์ วิถีทางจิตวิทยาของมนุษย์ เครื่องหมายของเวลาและอำนาจทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ผ่านการใช้สื่อในรูปของการจัดวางวิดีโอและเสียง อีกทั้งยังใช้วิธีการลงพื้นที่ศึกษาและรวบรวมข้อมูลร่วมด้วย

หลิน อี่-ชือ

เกิด พ.ศ. 2529 ไต้หวัน

ศิลปิน

หลิน อี่-ชือ เกิด พ.ศ. 2529 ปัจจุบันอาศัยและทำงานที่ไทเป ลินสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาวิจิตรศิลป์จากมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติไทเป ด้วยพื้นฐานทางการศึกษาทั้งในด้านศิลปะร่วมสมัยและการผลิตภาพยนตร์ ผลงานของเธอจึงอยู่ในรูปแบบของวิดีโออาร์ต ภาพยนตร์ทดลอง และการจัดวางวิดีโอ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวทางปฏิบัติของหลินมุ่งเน้นเรื่องราวการพลัดถิ่นภายในภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย โดยมีการรวบรวมความทรงจำและความฝันผ่านการสำรวจภาคสนาม และเปลี่ยนร่างแปลงรูปภาพที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งชีวิตให้กลายเป็นผลงานทางศิลปะที่ถ่ายทอดออกมาในสไตล์ของเธอได้อย่างโดดเด่น เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของแต่ละคนได้รับการตีความใหม่และจำลองให้อยู่ในสถานการณ์ใหม่ เพื่อเป็น กระบอกเสียงให้แก่กลุ่มคนชายขอบและสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ และความทรงจำร่วมกันอีกครั้ง

ภาพบรรยากาศอันเป็นเอกลักษณ์ที่ผลงานศิลปะของเธอสร้างสรรค์ขึ้นมามีความโดดเด่นและแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร

ซิม ชือ ยิน

เกิด พ.ศ. 2521 สิงคโปร์

ศิลปิน

ศิลปินจากสิงคโปร์ที่มีผลงานสร้างสรรค์โดยใช้แนวทางการวิจัยเป็นหลัก เธอใช้วิธีการทางศิลปะและข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการท้าทายและทำให้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และอาณานิคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ผลงานของเธอมีทั้งภาพถ่าย ภาพยนตร์ การจัดวาง การแสดง และการทำหนังสือ

ซิม ชือ ยิน จะร่วมจัดแสดงผลงานในงาน ‘เวนิสเบียนนาเล’ ครั้งที่ 60 (2567)

นอกจากนี้ เธอยังมีผลงานร่วมจัดแสดงในงานอิสตันบูล เบียนนาเล (2565, 2560) และ Guangzhou Image Triennial (2564) ผลงานของเธออยู่ในชุดผลงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ศิลปะฮาร์วาร์ด, พิพิธภัณฑ์ เจ. พอล เกตตี, M+ ฮ่องกง, พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์ เธอได้รับทุนสนับสนุนในฐานะศิลปินโครงการศึกษาอิสระของ Whitney Museum (2565-2566) และปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย King's College London

ซิม ชือ ยิน เป็นศิลปินในสังกัดซิลเบอร์แมน แกลเลอรี เบอร์ลิน และฮานาท ทีซี แกลเลอรี่ ฮ่องกง

จาง คิน-วาห์

เกิด พ.ศ. 2519 ที่เมืองซัวเถา ประเทศจีน

ศิลปิน

สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Chinese University of Hong Kong และมหาวิทยาลัย Camberwell College of Arts ที่กรุงลอนดอน นิทรรศการเดี่ยวและโครงการล่าสุดของเขา ได้แก่ ‘Freezing Water: Between Here and There’ ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะฮ่องกง (2566); ‘Onsite/offsite: Tsang Kin-Wah’ ที่หอศิลป์แวนคูเวอร์ แคนาดา (2560); NOTHING ที่ M+ Pavilion ฮ่องกง (2559); และ The Infinite Nothing ที่ Hong Kong Pavilion, เวนิส เบียนนาเล (2558) และอื่นๆ อีกมากมาย อีกทั้งยังได้ร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการระดับนานาชาติมากมาย รวมถึงงาน อิสตันบูล ไบเอนเนียล (2560), ไอชิ เทรียนนาเล (2553), ซิดนีย์ เบียนนาเล (2553) และ ลียง เบียนนาเล (2552)

ผลงานของเขายังได้รับการจัดแสดงในคอลเลกชันและพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญ เช่น M+ Museum of Visual Culture (ฮ่องกง), Mori Art Museum (โตเกียว), Solomon R. Guggenheim Museum (นิวยอร์ก) และ MAXXI, the National Museum of 21st Century Arts (โรม) ซัง คิน-วาห์ ยังได้รับเลือกเพื่อเป็นตัวแทนศิลปินจากฮ่องกงในการแสดงผลงานที่งาน เวนิส เบียนนาเล ครั้งที่ 56 พ.ศ. 2558

เฉา เหลียง-ปิน

ไต้หวัน

ศิลปิน

เฉา เหลียง-ปิน เกิดและเติบโตที่ไต้หวัน อาศัยอยู่ที่ไทเป ไต้หวัน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านศิลปะจาก Pratt Institute และได้รับทุนฟูลไบรท์ โครงการศิลปินในพำนักที่นิวยอร์ก ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน และโครงการแลกเปลี่ยนศิลปินภาพถ่ายที่ปารีสภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานฝรั่งเศส ประจำไทเป และทุนอื่นๆ อีกมากมาย ผลงานล่าสุดของเขา “Becoming ‧ Taiwanese” สำรวจเกี่ยวกับศาลเจ้าผู้พลีชีพชาวจีนในไต้หวันและปฏิสัมพันธ์ระหว่างการตกเป็นประเทศอาณานิคมในอดีต อัตลักษณ์ของตัวเอง และการรับรู้ถึงคุณค่า โดยเฉพาะในแง่ของความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านและการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและอัตลักษณ์ของผู้คน

เฉา เหลียง-ปิน ยังอุทิศตนเพื่อการบริการสาธารณะและการเข้าถึงทรัพยากรทางวัฒนธรรม เขาก่อตั้ง Lightbox Photo Library ขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2559 ในฐานะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามามาใช้งานได้ฟรี องค์กร Lightbox มุ่งเน้นการอนุรักษ์ เผยแพร่ และพัฒนาวัฒนธรรมการถ่ายภาพในท้องถิ่นและปฏิบัติการเชิงสร้างสรรค์ผ่านการจัดโครงการสาธารณะและโครงการการศึกษาประเภทต่างๆ โดยุม่งหมายยึดมั่นในคุณค่าของเสรีภาพทางปัญญา ความเท่าเทียมทางวัฒนธรรม และการสร้างสรรค์วัฒนธรรมการถ่ายภาพร่วมกัน

ตินติน วูเลีย

เกิด พ.ศ. 2515 เดนปาซาร์

ศิลปิน

ตินติน เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มงานวิจัยกลุ่มข้ามประเทศ 1965 Setiap Hari, ซึ่งรวบรวมเรื่องราวส่วนบุคคลเกี่ยวกับการสังหารหมู่อินโดนีเซีย ในช่วงปี 1965- 1966 และถ่ายทอดผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ นอกจากนี้เธอยังเป็นตัวแทนของกลุ่มวิจัย Thingstigate ที่มหาวิทยาลัย Gothenburg โดยมุ่งเน้นถึงประสบการณ์ในการค้นพบวัตถุที่ใช้ในชีวิตประจำวันอันกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง